3 วิธีการปะยางมอเตอร์ไซค์ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ?

August 29, 2023

“ยางรั่ว” ปัญหาที่หลายคนต้องเคยพบเจอในรถทุกประเภท อย่างวันนี้เราจะพูดถึงปัญหายางรั่วในรถประเภทมอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าคุณจะขับขี่บนถนนทางขรุขระหรือทางเรียบ ๆ แบบไม่มีสิ่งกีดขวาง แต่ถ้าบังเอิญคุณเกิดดวงซวยหรือโชคไม่ดี ก็อาจมีตะปูบนพื้นท้องถนนรอทิ่มแทงยางของคุณ จนยางเกิดการรั่วและค่อย ๆ ปล่อยลมออกจนหมดได้ ส่งผลประสิทธิภาพการขับขี่มอเตอร์ไซค์ลดลง 

โดยวิธีที่สามารถแก้ไขปัญหายางรั่วแบบง่ายและรวดเร็วทันใจได้ก็คือ “การปะยาง” นั่นเอง วันนี้เราจึงได้รวบรวม 3 วิธีการปะยางมอเตอร์ไซค์มาให้แล้ว ซึ่งการปะยางแต่ละวิธีก็มีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ตามมาดูกันเลยครับ

 

1. การปะยางแบบแทงไหม (ปะยางแบบตัวหนอน)

การปะยางแบบแทงไหมหรือตัวหนอน เป็นวิธีที่ไม่ต้องถอดยางมอเตอร์ไซค์ออกมาให้เปลืองแรง เพียงแค่แทงไหมหรือแทงหนอนเข้าไปบริเวณรอยแผลที่เป็นรูเพื่ออุดรอยรั่วไว้ เหมาะกับการปะยางเพื่อซ่อมรอยแผลเล็ก ๆ แบบตะปูตำหรือน็อตทิ่มเท่านั้น

วิธีการทำ 

เริ่มจากดึงตะปูหรือวัสดุที่ตำยางออกก่อน และคว้านรูรั่วของยางให้มีขนาดพอเหมาะกับแท่งไหม จากนั้นใช้แท่งไหมที่มีส่วนผสมของกาวหรือชุบน้ำยาประสาน จากนั้นก็แทงเข้าไปในรูรั่วนั้นจนสนิทและตัดแต่งให้เรียบเนียนเข้ากับหน้ายาง 

ข้อดี 

- สามารถทำเองได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน 

- ไม่ต้องถอดยางให้เปลืองแรง 

- ประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะมีราคาถูก ประมาณ 70-100 บาท/จุด

ข้อเสีย/ข้อควรระวัง 

- ถ้าหากไม่ปะรูรั่วให้พอดีกับขนาดแท่งไหม ก็อาจเกิดปัญหาลมยางซึมหรือรั่วอีกครั้งได้

- ไม่เหมาะกับรถที่มีน้ำหนักมากหรือมีล้อขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุกของ เป็นต้น

- ไม่เหมาะกับแผลที่มีรอยฉีกของยางขนาดใหญ่

- ไม่ทนแรงดันและความร้อนสูง

 

2. การปะยางแบบสตีมเย็น (ปะยางด้วยความเย็น)

การปะยางแบบสตีมเย็นหรือปะยางด้วยความเย็น เป็นวิธีที่ต้องถอดล้อมอเตอร์ไซค์ออกมาก่อน เพื่อทำการปะเข้าด้านในยาง โดยจะใช้แผ่นยางเก่าในการนำมาแปะทับรอยรั่ว เหมาะกับการปะยางเพื่อซ่อมรอยแผลเล็ก ๆ อย่างตะปูตำ น็อตตำ เศษแก้วหรือเหล็กบาดยาง  

วิธีการทำ

เริ่มด้วยการถอดล้อมอเตอร์ไซค์ออกมาก่อน ต่อมาให้ดึงตะปูหรือวัสดุที่ตำออกจากยาง จากนั้นให้ทากาวลงบนแผ่นยางเก่าและรอให้กาวแห้งหมาด ๆ เมื่อกาวเกือบแห้งแล้วให้นำแผ่นยางเก่ามาแปะทับรอยรั่วและรีดให้ให้แนบแน่นจนเข้ากับหน้ายาง หรือจะใช้ค้อนทุบเบา ๆ บริเวณรอยปะ เพื่อไล่อากาศและทำให้แผ่นยางติดกับหน้ายางมากยิ่งขึ้น

ข้อดี 

- สามารถกันลมรั่วออกจากยางได้ดี

- มีอายุการใช้งานยาว

- ประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะมีราคาถูก ประมาณ 70-100 บาท/จุด

ข้อเสีย/ข้อควรระวัง 

- ไม่ทนแรงดันและความร้อนสูง

- ไม่เหมาะกับรถที่มีน้ำหนักมากหรือมีล้อขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุกของ เป็นต้น

- ไม่เหมาะกับแผลที่มีรอยฉีกของยางขนาดใหญ่

3. การปะยางแบบสตีมร้อน (ปะยางด้วยความร้อน)


การปะยางแบบสตีมร้อนหรือปะยางด้วยความร้อน เป็นวิธีที่ต้องถอดล้อมอเตอร์ไซค์ออกมาก่อน เพื่อทำการปะเข้าด้านในยาง โดยการนำแผ่นยางที่มีความหนาประมาณ 3 มม. มาปะทับรอยรั่วของยาง ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับการปะยางเพื่อซ่อมรอยฉีกขนาดไม่ใหญ่มาก แต่สามารถปะยางให้เรียบเนียนได้กว่า 2 วิธีแรก

 

วิธีการทำ 

เริ่มด้วยการถอดล้อมอเตอร์ไซค์ออกมาก่อน ต่อมาให้ดึงตะปูหรือวัสดุที่ตำออกจากยาง แล้วใช้กาวทาลงไปที่บริเวณรอยรั่ว จากนั้นใช้แผ่นยางที่มีความหนา 3 มม. แปะทับลงไปบริเวณที่ทากาว และใช้เครื่องทำความร้อนกดทับลงไปอีกที โดยใช้เวลาไว้ประมาณหนึ่งเพื่อให้แผ่นยางนั้นหลอมละลายติดไปกับหน้ายางจนเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน 

ข้อดี 

- สามารถรักษารอยรั่วให้แนบสนิท หนาแน่นกว่าวิธีอื่น ๆ

- กันลมรั่วออกจากยางได้ดี 

- สามารถทนแรงดันและความร้อนสูงได้

- ใช้ได้กับรถทุกประเภท

- มีอายุการใช้งานยาว

ข้อเสีย/ข้อควรระวัง 

- ใช้เวลาทำนาน จึงไม่เหมาะกับเวลาเร่งรีบ

- ค่าใช้จ่ายสูง ประมาณ 150-200 บาท/จุด

- เนื้อยางบริเวณรอบ ๆ อาจเกิดความเสียหายร่วมด้วย เพราะใช้ความร้อนในการรักษา เช่น ยางบวม เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่า การปะยางมอเตอร์ไซค์ทุกวิธีจะเหมาะกับรอยฉีกขนาดเล็ก ๆ อย่างตะปูทิ่ม น็อตต่ำ หรือเหล็กบาดเท่านั้น แต่ถ้าหากเพื่อน ๆ เจอรอยรั่วที่มีแผลขนาดใหญ่กว่านี้จนไม่สามารถซ่อมแซมด้วยวิธีเหล่านี้ได้ ก็ควรนำมอเตอร์ไซค์เข้าศูนย์ใกล้บ้านและให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนน ด้วยความห่วงใยจาก 35 ยนตรการ

Copyright © 2022Yontrakan All Right Reserved.