มารู้จัก การทำงานของคาร์บูเรเตอร์ มอเตอร์ไซค์ กันเถอะ !

August 29, 2023

ใครกำลังเผชิญกับปัญหามอเตอร์ไซค์สตาร์ทไม่ติด สตาร์ทติดยาก หรือมีกลิ่นน้ำมันคลุ้งเมื่อสตาร์ทรถติด ความน่าปวดหัวเหล่านี้อาจเกิดจากการชำรุดของ “คาร์บูเรเตอร์” แล้วตัวชิ้นส่วนคาร์บูเรเตอร์คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ วันนี้จะพาทุกคนมาไขคำตอบไปพร้อม ๆ กัน มาดูกันเลย !

คาร์บูเรเตอร์ (Carburetor) คืออะไร ?

“คาร์บูเรเตอร์” คือ กลไกระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ มีหน้าที่ควบคุมความเร็วของเครื่องยนต์ ด้วยการผสมน้ำมันกับอากาศให้เป็นไอดี จากนั้นจะจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้อย่างเหมาะสม ช่วยให้เครื่องเดินเรียบ สตาร์ทรถได้อย่างไม่มีสะดุด อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

คาร์บูเรเตอร์มีส่วนประกอบหลักอะไรบ้าง ?

- ลิ้นปีกผีเสื้อ (Throttle valve)

- โช้ค (Choke)

- สกรูปรับเดินเบา (Idle needle valve) 

- เข็มน้ำมัน (Needle valve)

- ห้องลูกลอย (Float chamber)

- รูน้ำมันเดินเบา (Idle discharge holes) 

- ปั๊มเร่ง (Accelerating pump)

- นมหนูอากาศ (Air bleed) 

- นมหนูไฟฟ้า (Solenoid) 

- เข็มนมหนูหลัก (Main jet)

คาร์บูเรเตอร์ (Carburetor) ทำงานอย่างไร ?

คาร์บูเรเตอร์มีการทำงานที่สอดคล้องกับความเร็วของเครื่องยนต์และอาศัยหลักการเกิดสุญญากาศ ในการทำงานของความเร็วรอบเครื่องต่ำ (Low speed circuit) ที่มีความเร็วประมาณ 750 – 800 รอบ / นาที (RPM) ลิ้นปีกผีเสื้อในคาร์บูเรเตอร์จะไม่เปิดกว้างหรืออาจปิด ไม่มีช่องแคบให้เกิดสุญญากาศ ทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงต้องไหลผ่านเข็มปรับตั้งเดินเบา (Idle needle valve) ปริมาณน้ำมันและอากาศ (ไอดี) ที่ป้อนเข้าไปในห้องเผาไหม้จึงมีจำนวนน้อยลงไปด้วย ส่งผลให้เครื่องเดินรอบช้ากว่าปกติ

แต่ในการทำงานของความเร็วรอบเครื่องสูง (High speed circuit) ที่มีความเร็วประมาณ 3,000 รอบ / นาที (RPM) ลิ้นปีกผีเสื้อในคาร์บูเรเตอร์จะเปิดอย่างเต็มที่ ทำให้มีช่องแคบให้เกิดสุญญากาศ ส่งผลให้น้ำมันที่อยู่ในห้องลูกลอย (Float chamber) ไหลออกมาเจอกับอากาศ โดยห้องลูกลอยที่มีน้ำมันเก็บอยู่จะมีความดันบรรยากาศที่สูงกว่าช่องแคบ และเมื่อน้ำมันกับอากาศต้องไหลผ่านช่องแคบด้วยความเร็วสูง ก็จะก่อให้เกิดฝอยละอองไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้ในจำนวนมากนั่นเอง

การดูแลคาร์บูเรเตอร์

1. เมื่อใช้คาร์บูเรเตอร์ไปนาน ๆ จะทำให้มีฝุ่นไปเกาะคาร์บูเรเตอร์ ส่งผลให้ปิดรูทางเดินน้ำมัน ทำให้เร่งเครื่องยนต์ไม่ออก เครื่องเดินไม่เรียบ ดังนั้นคุณจะต้องล้างทำความสะอาดคาร์บูเรเตอร์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2. คาร์บูเรเตอร์จะใช้ควบคู่ไปกันกับเครื่องกรองอากาศ เพราะเครื่องกรองจะช่วยให้อากาศไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นคุณต้องหมั่นเปลี่ยนเครื่องกรองอากาศตามอายุการใช้งาน

3. หากพบว่ามีปัญหารั่วซึม ต้องรีบแก้ไขหรือส่งช่างตรวจสอบทันที เพราะน้ำมันกับความร้อนอาจก่อให้เกิดเหตุไฟลุกไหม้ได้

 

สรุปได้ว่า คาร์บูเรเตอร์เป็นหัวใจสำคัญของเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ โดยการทำงานของคาร์บูเรเตอร์จะขึ้นอยู่กับความเร็วของรอบเครื่อง ยิ่งรอบเดินสูงก็จะยิ่งดีต่อการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หมดปัญหาสตาร์ทเครื่องไม่ติด สตาร์ทติดยาก หรือมีกลิ่นน้ำมันคลุ้งเมื่อสตาร์ทรถติด ดังนั้นอย่าลืมสังเกตการทำงานของคาร์บูเรเตอร์อยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเครื่องยนต์เดินไม่เรียบ ด้วยความห่วงใยจาก 35 ยนตรการ

Copyright © 2022Yontrakan All Right Reserved.