ทำไมถึงเรียกว่า เครื่องยนต์ 2 จังหวะ ?

September 12, 2022

เครื่องยนต์ 2 จังหวะ (Two-stroke engine) คือ การที่เครื่องยนต์รวบรวมจังหวะการดูดและอัดไว้ด้วยกันในจังหวะที่ 1 ส่วนการระเบิดและคายเป็นจังหวะที่ 2 ทำให้ถูกเรียกว่าเครื่องยนต์ 2 จังหวะ ส่งผลให้เครื่องยนต์มีพละกำลังที่สูงมากกว่าเครื่องยนต์ 4 จังหวะ อีกทั้งยังทำให้การเผาไหม้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

 

ลักษณะของเครื่องยนต์ 2 จังหวะ

1. ตัวเสื้อสูบของเครื่องยนต์ 2 จังหวะจะไม่มีระบบกลไกของวาล์ว มีเพียงแค่ท่อสำหรับคายไอเสียออกมาเท่านั้น อีกทั้งท่อดูดอากาศก็ไม่ได้อยู่ในบริเวณของเสื้อสูบ แต่จะอยู่บริเวณด้านล่างแทน ทำให้เสื้อสูบ 2 จังหวะมีขนาดเล็ก แต่มีปริมาตรความจุเท่ากับเครื่องยนต์ 4 จังหวะ

2. เสียงของเครื่องยนต์ 2 จังหวะ จะมีเสียงออกแหลม ๆ และเมื่อจอดรถติดเครื่องยนต์ไว้จะมีรอบเดินรถที่ไม่เรียบ

3. ท่อดูดอากาศจากคาร์บูเรเตอร์บริเวณเสื้อสูบของเครื่องยนต์ 2 จังหวะจะไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกันกับท่อไอเสีย ซึ่งจะต่างจากเครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะที่จะอยู่ในระดับเดียวกันเสมอ

4. จะมีควันออกจากท่อไอเสีย เพราะจำเป็นต้องใช้น้ำมันเครื่องชนิดพิเศษที่เรียกว่า “ออโต้ลูป (Auto Lube)” เพื่อเข้าไปช่วยหล่อลื่นชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในบริเวณห้องเครื่อง พร้อมกับเกิดการเผาไหม้ออกมาทางท่อไอเสีย

5. สามารถติดตั้งหัวเทียนบริเวณส่วนบนสุดของฝาสูบได้เลย เพราะไม่มีระบบกลไกของวาล์ว

 

เครื่องยนต์ 2 จังหวะ ทำงานอย่างไร ?

- การดูดและอัด จังหวะที่ 1  คือ เมื่อลูกสูบวิ่งจากข้างบนลงข้างล่าง จะเป็นจังหวะที่ “ดูด” อากาศจากห้องแครงก์เข้าสู่กระบอกสูบและทำการ “อัด” อากาศขึ้นไป

- การระเบิดและคาย จังหวะที่ 2 คือ หัวเทียนจะสร้างกระแสไฟออกมาเพื่อ “จุดระเบิด” ในห้องเผาไหม้ หลังจากการจุดระเบิด ลูกสูบจะถูกดันลงมา เพื่อดันไอดีในห้องเผาไหม้ที่ถูกอัดไว้จากจังหวะก่อนหน้าให้ไล่ไอเสียออกมา ทำให้เกิดจังหวะ “คาย” ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันนั่นเอง

 

ข้อดีและข้อเสีย เครื่องยนต์ 2 จังหวะ

ข้อดีของเครื่องยนต์ 2 จังหวะคือ เครื่องยนต์มีพละกำลังที่สูง สามารถออกตัวได้อย่างรวดเร็ว อัตราการเร่งดีเยี่ยม ลากรอบเครื่องยนต์ได้สูง ชิ้นส่วนมีการเคลื่อนไหวที่น้อย อีกทั้งยังดูแลรักษาง่าย

ส่วนข้อเสียของเครื่องยนต์ 2 จังหวะนั้นคือ ไม่ค่อยทนทานแข็งแรง เสี่ยงต่อการสึกหรอสูง เสียงดังแหลม เครื่องเดินไม่เรียบ กินน้ำมันมากกว่าเครื่องยนต์ 4 จังหวะ และยังก่อให้เกิดมลพิษด้วยการปล่อยควันขาวออกจากท่อไอเสีย

สรุปได้ว่า เครื่องยนต์ 2 จังหวะคือการรวบรวมการดูดและอัดไว้ในจังหวะที่ 1 ส่วนการระเบิดและคายเป็นจังหวะที่ 2 ซึ่งข้อดีของเครื่องยนต์ 2 จังหวะคือมีพละกำลังที่สูง เร็ว แรงกว่าเครื่องยนต์ 4 จังหวะถึง 2 เท่า แต่กลับมีข้อเสียในการปล่อยมลพิษด้วยควันขาวออกจากท่อไอเสีย อีกทั้งยังกินน้ำมันเป็นอย่างมาก

ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์ 2 จังหวะ ควรศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วน เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยความห่วงใยจาก 35 ยนตรการ

Copyright © 2022Yontrakan All Right Reserved.